Startup Industry ภายใต้ Thailand 4.0

บริการ SaaS สมองออนไลน์

Startup Industry ภายใต้ Thailand 4.0

หลายท่านคงได้อ่านและทำความเข้าใจกับโมเดล Thailand 4.0 และความสัมพันธ์ของ Thailand 4.0 ในมิติต่างๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านสังคม ผ่านทาง Facebook Fanpage ของผมไปแล้ว วันนี้ผมมีอีกด้านหนึ่งของ Thailand 4.0 ที่อยากจะแชร์ให้ทุกท่านได้เห็นภาพ นั่งคือด้าน Startup โดยเมื่อวานนี้ (22 มี.ค. 2560) ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในหัวข้อ Thailand 4.0 & Startup Industry ในงาน Thailand’s Startups : Learning from Unicorns ซึ่งจัดโดย Bangkok Post ซึ่งมี Startup ชั้นนำหลายท่านร่วมเป็น Guest speakers เช่น Mr. Robert Rosenstein ผู้ร่วมก่อตั้ง Agoda คุณณัฐวุฒิ พึ่งเจริญพงศ์ CEO ของ Thailand’s Ookbee Company เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาในการบรรยายจะช่วยฉายภาพให้ทุกท่านได้เห็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Startup ภายใต้บริบทของ Thailand 4.0

ปัจจุบัน โลกของเราในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยโลกในยุคนี้จะเป็นโลกที่มีความสุดโต่ง (Extremity) ความย้อนแย้ง (Paradox) และการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruption) ซึ่งส่งผลให้เกิดโอกาสและภัยคุกคามชุดใหม่ และส่งผลให้เกิดความต้องการสภาพแวดล้อมและความสามารถรูปแบบใหม่ในการใช้ชีวิต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นส่งผลให้เกิดรูปแบบในการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนจากตลาดที่ใช้พื้นที่ทางกายภาพ (Marketplace) สู่ตลาดบนพื้นที่ทางดิจิทัล (Marketspace) การเปลี่ยนจากวัฒนธรรมการเพิ่มผลิตภาพซึ่งช่วยให้ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาสู่วัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรม เป็นต้น ซึ่งประเทศต่างๆ ได้มีการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคศตวรรษที่ 21 ผ่านการกำหนดโมเดลในการขับเคลื่อนประเทศ เช่น A Nation of Maker ของสหรัฐอเมริกา Made in China 2025 รวมถึง Creative Economy ของเกาหลีใต้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดโมเดลในการขับเคลื่อนประเทศ นำมาสู่โมเดล Thailand 4.0 ที่ทุกท่านทราบกัน

ภายใต้โมเดล Thailand 4.0 ซึ่งประกอบด้วย 5 วาระสำคัญในการขับเคลื่อน วาระหนึ่งที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน Startup คือ การบ่มเพาะวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Incubating Innovative Enterprises) ซึ่งผู้ประกอบการ Startup นับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวาระนี้ โดยต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ Startup สร้างอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของอุตสาหกรรม 3 กลุ่ม ได้แก่

1) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (Biological and Cultural Diversity) เช่น อาหาร ท่องเที่ยว วัฒนธรรม เป็นต้น

2) อุตสาหกรรมบริการที่มีมูลค่าสูง (High-Value Service) เช่น สุขภาพ ขนส่ง การศึกษา ความคิดสร้างสรรค์ ดิจิทัล

3) อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technology Industry) เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์แห่งอนาคต เป็นต้น

โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะต้องอาศัย platform ที่สำคัญ คือ Internet of Things (IoT) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคตที่ทุกอย่างจะเชื่อมต่อกันบนระบบ Internet ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการ Startup ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จะต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น Fintech Foodtech Edtech Robotech เป็นต้น

เพื่อให้อุตสาหกรรม Startup เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้โมเดล Thailand 4.0 จึงจำเป็นจะต้องมีมาตรการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรม Startup ให้มีความเข้มแข็ง โดยมีมาตรการใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ มาตรการด้านการเงินและการลดความเสี่ยง มาตรการด้านการสร้างความสามารถของผู้ประกอบการ Startup และมาตรการสร้างความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม Startup ในภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งรายละเอียดสามารถดูได้จากเอกสารนำเสนอที่ผมได้เผยแพร่ครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ทุกท่านเข้าใจว่าโมเดล Thailand 4.0 นั้น เป็นโมเดลที่ออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าโดยคำนึงถึงคนไทยทุกกลุ่มในประเทศ และต้องอาศัยความร่วมมือของคนไทยทุกคนในประเทศ ดั่งภาษิตของชาวแอฟริกันว่า “หากคุณต้องการเดินทางไปอย่างรวดเร็ว จงเดินทางเพียงลำพัง แต่หากต้องการเดินทางไปได้ไกล จงเดินทางไปด้วยกัน” (If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together.”) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ว่า “เราจะเติบโตและเข้มแข็งไปด้วยกัน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Stronger Together. Left No One Behind.”)

ที่มา : https://www.facebook.com/drsuvitpage/posts/1438451969794862

9811total visits,1visits today

ใส่ความเห็น