เขียนโปรแกรมพัฒนาระบบงานด้วยเดลไฟ Delphi ดีไหม?
ปัจจุบันคุณเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้กี่ภาษา…แล้วไง?
ไม่ว่าคุณจะเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้กี่ภาษาก็ตามท้ายที่สุดสิ่งที่คุณจะภูมิใจมากที่สุดก็คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่คุณได้พัฒนาขึ้นมา ทุกวันนี้หากลองคิดทบทวนดูทุกโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้นล้วนเป็นไปตามกฏธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ผลิตขึ้น นำไปใช้งานและล้าสมัยไปตามกาลเวลา แต่ในโลกของเทคโนโลยีการล้าสมัยมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก
จำนวนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ของคุณที่สร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคุณปัจจุบันนี้มีอยู่กี่ตัว ถ้าคิดเป็นมูลราคาโดยรวมจะสักเท่าไหร่ ลองทบทวนดูจำนวนคำสั่งที่เราต้องสูญเสียไปในการพัฒนาโปรแกรม ด้วยภาษาที่หลากหลายที่เราเคยเขียนมาพัฒนามา คุณประเมินการสูญเสียนั้นมีมูลราคาสักเท่าไหร่ ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้ไป
นักพัฒนาระบบเขียนโปรแกรมเพื่อรับเงินเดือน ส่วนใหญ่ก็ต้องทำงานกันเป็นทีม มีการนำเอาชุดคำสั่งต่างๆที่ เขียนมารวมเข้าด้วยกันโดยหัวหน้าโครงการ ปัญหามันคงจะไม่มีอะไรมากมาย ถ้าหากไม่มีเวลามาเกี่ยวข้อง ลองนึกภาพโปรแกรมที่เขียนมาไปแล้วหกเดือน แล้วกลับมานั่งแกะโปรแกรมตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง ถ้าจะต้องมานั่งรับงานแก้ไขส่วนที่เป็นของคนอื่นที่เขียนเอาไว้ ผู้ที่เขียนโปรแกรมมามากพอ ก็คงจะรู้ว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาพอสมควร กับชุดคำสั่งหลายล้านคำสั่งที่ต้องมีการบริหารจัดการ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด สภาพแวดล้อมการทำงานจริงจะเห็นได้ว่าความสำคัญเรื่องภาษากับปัญหาจริง ตัวภาษาไม่ใช่เป็นปัจจัยที่แก้ไขปัญหาทั้งหมด ตัวภาษาและเครื่องมือไม่ได้เป็นตัวเลือกสำคัญที่สุดในการก้าวไปข้างหน้า ในเรื่องของการพัฒนาระบบ แต่กลับกันตรงกันข้ามทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ต้องมานั่งคุยถกเถียงกันว่า ภาษาอะไรดีที่สุด ทั้งที่ทุกภาษาก็มีข้อดีและเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
ปี 2561 เดลไฟ (Delphi) อายุขึ้นปีที่ 23 ปีแล้ว
ถ้าจะมีภาษาคอมพิวเตอร์ภาษาหนึ่งที่มีอายุผ่านมาได้ 23 ปีแล้ว ทุกวันนี้ควรจะต้องทำอะไรได้บ้าง ในความสามารถของภาษานั้นที่จะนำไปประยุกต์ใช้งานในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ที่กำลังมุ่งเข้าสู่ระบบที่มีคุณสมบัติของปัญญาประดิษฐ์ เดลไฟ (Delphi) คือ หนึ่งในภาษามีความพร้อมที่จะนำคุณไปสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์สมัยใหม่ได้อย่างที่คุณต้องการ
- การพัฒนา Desktop Application for Windows (VCL – Visual Control Library)
- การพัฒนา Server Application for Windows (VCL – Visual Control Library)
- การพัฒนา Server Application for Linux
- การพัฒนา Web Server Application for Windows
- การพัฒนา Mobile Application for Android
- การพัฒนา Mobile Application for iOS
ด้วยความหลากหลายของอุปกรณ์ที่แตกต่างกันตามลักษณะการใช้งานสำหรับผู้ใช้แต่ละกลุ่ม การพัฒนาระบบจำเป็นต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ครอบคลุมใน 6 รูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น ภาษาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ภาษาหนึ่งที่จะรองรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ได้หลากหลาย ด้วยการเรียนรู้เพียงภาษาเดียวเป็นหลัก เดลไฟ คือหนึ่งในภาษานั้น
จากความสามารถที่เดลไฟทำได้ในปัจจุบัน นั่นหมายถึงแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นจะสามารถขยายขีดความสามารถ ให้ทันกับเทคโนโลยีได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ ทั้งในเรื่องการช่วยลดความสูญเสียชุดคำสั่งที่ไม่ทันสมัยแล้วต้องรื้อโปรแกรมเพื่อทำขึ้นมาใหม่ การลดจำนวนนักพัฒนาลดต้นทุนหมายถึง นักพัฒนาคนเดียวสามารถทำงานได้หลากหลายแพลตฟอร์ม หรือมีความสามารถเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึง เป็นการช่วยยกระดับรายได้ไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ไม่เกี่ยวกับภาษาแต่เป็นเรื่องที่ระบบต้องคุยกับระบบอื่นได้
เรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบบางครั้งก็เป็นคนละประเด็นกับความสำคัญที่แท้จริง ไม่ว่าคุณจะเขียนระบบด้วยภาษาอะไรคุณไม่มีทางจะทำทุกอย่างให้สำเร็จเชื่อมโยงเกี่ยวข้องทำงานร่วมกันได้ทั้งหมด โดยคนเพียงคนเดียวหรือระบบเดียว จำเป็นจะต้องนำระบบมาทำงานร่วมกัน เปลี่ยนข้อมูลสื่อสารระหว่างกันให้ได้
พิจารณาเพียงแค่นี้ มันก็ไม่เกี่ยวแล้วว่าจะเป็นภาษาอะไร เขียนจาวาไม่มีบริการเว็บเซอร์วิสหรือเขียนเดลไฟแล้ว ไม่มีบริการเว็บเซอร์วิส ก็ไม่ต่างกันเลย ภาษาที่ใช้พัฒนาระบบจึงไม่ใช่สาระสำคัญแท้จริง แต่อยู่ที่ว่านักเขียนซอฟต์แวร์รู้จริงหรือเปล่า ทำงานได้จริงหรือเปล่า ความต้องทำอะไร หรือมีความเชื่ยวชาญในเครื่องมือที่นำไปใช้งานอย่างแท้จริงหรือไม่
สนุกกับการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุด้วย Delphi
ตัวภาษาจริงๆ ของเดลไฟ คือ ภาษาพาสคาล (Pascal) จนเมื่อพัฒนามาเป็นการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุก็กลายเป็น Object Pascal เมื่อบริษัทผู้จำหน่ายนำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือช่วยเขียนโปรแกรมแบบรวดเร็วที่เรียกว่า IDE (Integrated Development Environment) ก็ได้ตั้งชื่อเครื่องมือช่วยเขียนโปรแกรมนี้ว่า เดลไฟ (Delphi) เพื่อให้จดจำได้ง่าย
ปัจจุบันมีภาษาที่รองรับการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุมากมายโดยตัวหลักการแล้วก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากอย่างมีนัยยะสำคัญ ความสำคัญจะอยู่ที่การออกแบบโครงสร้างของระบบให้ใช้ประสิทธิภาพของการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุได้อย่างสูงสุด ซึ่งหมายถึงการออกแบบสายพันธุ์ของคลาสให้ตอบสนองต่อการใช้งานได้อย่างหลากหลายรวมไปถึงการออกแบบกรรมวิธีการบริหารจัดการวัตถุให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเดลไฟสามารถทำได้อย่างที่คุณต้องการแน่นอนไม่ได้ด้อยกว่าภาษาอื่นเลย
เดลไฟตอบโจทย์การพัฒนาระบบไมโครเซอร์วิส (Microservices) ได้สบายๆ
เมื่อพูดถึงสถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส ถ้าคนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะไม่เข้าใจเลย สำหรับคนที่เข้าใจก็อาจจะไปนึกถึงเครื่องมือสำเร็จรูปต่างๆ เป็นแบบโอเพ่นซอร์ส ทำให้นึกถึงว่าจะต้องอ่านหนังสืออีกเป็นจำนวนมากกว่าที่จะพัฒนาระบบขนาดใหญ่ที่ทำงานด้วยโครงสร้างแบบไมโครเซอร์วิส (Microservices) ไม่นับรวมเมื่อมีการติดตั้งระบบแล้วความซับซ้อนของระบบจะมีสักกี่คนที่จะสามารถให้บริการดูแลบำรุงรักษาระบบได้อย่างต่อเนื่องแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ก็ทำให้เห็นได้ว่าภาษาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้า
เราต้องมองความเป็นจริงตามที่เคยกล่าวมา ระบบมากมายจะต้องถูกนำมาทำงานร่วมกันผ่านทางอินเตอร์เน็ต จากการพัฒนาโปรแกรมที่เกิดจากภาษาที่แตกต่างกันอย่างมากมาย รวมถึงเกิดจากนักพัฒนาที่มีความแตกต่างกัน แต่ละระบบมีทั้งที่มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลหรืออาจจะไม่มีการใช้งานฐานข้อมูลก็เป็นเรื่องเฉพาะภายในตัวระบบของตนเอง แยกอิสระออกจากกันแต่สามารถทำงานประสานงานร่วมกันได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือให้บริการต่างๆ ระบบที่เชื่อมโยงกันเป็นแบบนี้ทำงานในลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็นคุณลักษณะของไมโครเซอร์วิส
ถ้ามองในเรื่องของการออกแบบระบบใหม่ๆ ที่ทำงานแบบไมโครเซอร์วิส หลักการแล้วก็จะแยกบริการต่างๆ ออกจากกันโดยแต่ละบริการจะมีฐานข้อมูลประจำตัวของตัวเอง ไม่ได้นำข้อมูลทั้งหมดมาใส่ไว้ในฐานข้อมูลก่อนเดียวกัน หรือการใช้ฐานข้อมูลในลักษณะกระจายหรือหลายฐานข้อมูล โดยที่ในแต่ละฐานข้อมูลมีระบบควบคุมการใช้งานแยกอิสระออกจากกันในเบื้องหลังการทำงาน
เดลไฟมีจุดเด่นที่สำคัญคือสามารถตอบสนองต่อการใช้งานฐานข้อมูลได้หลากหลายชนิดโดยไม่ยุ่งยาก ติดตั้งง่าย ทำงานได้อย่างรวดเร็วแบบ Native Code คือตัวโปรแกรมเป็นคำสั่งของตัวซีพียูเลยไม่ต้องแปลงคำสั่งอีกในขณะทำงานตรงนี้ก็เป็นจุดเด่นสำหรับโปรแกรมที่ต้องการความเร็วในการทำงาน
การเขียนเว็บเซอร์วิสเพื่อให้ระบบหลังบ้านทำงานสื่อสารติดต่อระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วก็ทำได้อย่างง่ายดายโดยใช้เดลไฟ
ทำไมคนใช้เดลไฟน้อยในประเทศไทย
90% ของการใช้คอมพิวเตอร์พีซีในประเทศไทยใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ในช่วงแรกจึงมีผู้ใช้เดลไฟเยอะ จากนั้นจำนวนผู้ใช้ก็ลดลงหลังจากที่เริ่มมีระบบอินเตอร์เน็ตได้มีการใช้เว็บแอพพลิเคชั่นหรือการทำงานผ่านบราวเซอร์มากขึ้น ประกอบกับมีภาษาจาวา มารองรับการพัฒนาแบบฟรี รวมถึงผู้ผลิตเดลไฟที่ปรับตัวตามตลาดไม่ทัน กำหนดทิศทางการตลาดผิดพลาดจึงทำให้เดลไฟไม่สามารถนำไปใช้พัฒนาระบบที่ทำงานแบบเว็บแอพพลิเคชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจำนวนนักพัฒนาจึงค่อยๆ ลดลง
กระทั่งประมาณปี ค.ศ. 2011 หรือ พ.ศ.2554 ผู้ผลิตเดลไฟเริ่มปรับตัวได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานใหม่ปรับตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโปรแกรมแบบผสมผสานหรือที่เรียกว่า Hybrid Development Tools คือเขียนโปรแกรมแบบครั้งเดียว แล้วนำไปใช้งานได้หลากหลายแพลตฟอร์ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสามารถมากขึ้นจนในปัจจุบันปี พ.ศ. 2561 เป็นรุ่น Delphi XE 10.2.2 Tokyo ที่มีความสามารถมาก แม้ว่าราคาจะสูง (ชุดใหญ่ประมาณ 160,000 บาท) แต่ก็มีชุดเครื่องมือต่างๆครบถ้วนให้สามารถนำไปใช้พัฒนาโปรแกรมได้อย่างหลากหลาย
แม้ว่าในประเทศไทยปัจจุบันจะมีผู้ใช้เดลไฟไม่มากนัก แต่ทั่วโลกก็มีจำนวนนักพัฒนาที่ใช้เดลไฟมากกว่า 3 ล้านคน กระจายอยู่ในประเทศจีน รัสเซีย ตุรกี อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นจำนวนมาก
จากพัฒนาการของเดลไฟ มากว่า 23 ปี ทำให้เดลไฟมีคอมโพเนนต์ต่างๆ ให้เลือกใช้อย่างมากมาย ก็คือบทพิสูจน์หนึ่งของการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป
ทำไมสมองแพลตฟอร์ม (Samong Platform) จึงพัฒนาด้วยเดลไฟ
สมองแพลตฟอร์ม เป็นแอพพลิเคชั่นที่ทำงานให้บริการพื้นฐานที่เรียกว่า Middleware (มิดเดิลแวร์) ช่วยสร้างมาตรฐานการพัฒนาแอพพลิเคชั่นร่วมกัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการทำงานร่วมกันเป็นทีม
สมองแพลตฟอร์ม พัฒนาในรูปแบบของชิ้นส่วนหรือคอมโพเน้นท์ (Components) มีพันธุกรรมที่ออกแบบพิเศษเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการพัฒนาระบบให้สะดวกและรวดเร็ว เริ่มทำการวิจัยมาตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 2002 จนถึงปัจจุบันเป็น สมองแพลตฟอร์ม ที่มีความสามารถหลากหลาย การเลือกเดลไฟมาตั้งแต่ต้นต้องคำนึงถึงการปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้ทันกับเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้ทีมงานให้น้อยที่สุด พยายามรักษาให้ต้นทุนต่ำที่สุด พยายามทำให้เกิดการสูญเสียชุดคำสั่งให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งให้สามารถขยายระบบได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเดลไฟได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างไม่มีปัญหาจึงทำให้สมองแพลตฟอร์มสามารถที่จะขยายขีดความสามารถได้อย่างต่อเนื่องตามไปด้วยเช่นกัน
12049total visits,6visits today